วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

~ Tokyo ~


ประวัติศาสตร์

โตเกียวแต่เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ที่ชื่อเอะโดะ ในปี ค.ศ. 1457 โอตะ โดกัง สร้างปราสาทเอะโดะขึ้น ในปี ค.ศ. 1590 โทกุงะวะ อิเอะยะสึสถาปนาเอะโดะเป็นค่ายทหารบะกุฟุ านกำลังของเขา และเมื่ออิเอะยะสึได้เป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603 เมืองเอะโดะจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลทหารของเขาซึ่งมีอำนาจปกครองทั้งประเทศ ในช่วงเวลาต่อมาในยุคเอะโดะ เมืองเอะโดะก็ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในโลก โดยมีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคนในคริสต์ศตวรรษที่ 18[6]และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น[7] แม้ว่าองค์จักรพรรดิทรงประทับอยู่ในเกียวโต
หลังจากนั้นประมาณ 263 ปี ระบอบปกครองภายใต้โชกุนถูกล้มล้างโดยการปฏิรูปเมจิ อำนาจการปกครองจึงกลับคืนมาสู่จักรพรรดิอีกครั้ง ในปี 1869 จักรพรรดิเมจิทรงย้ายเมืองหลวงมาที่เอะโดะและเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นโตเกียว โตเกียวจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและวัฒนธรรมของประเทศ[8] และการที่จักรพรรดิทรงย้ายมาประทับจึงทำให้โตเกียวกลายเป็นเมืองหลวงอย่างเต็มตัว ปราสาทเอะโดะถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวัง
ในยุคเมจิ โตเกียวมีการพัฒนาโดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่นการเปิดบริการโทรเลขระหว่างโตเกียวกับโยะโกะฮะมะในปี 1869 และการเปิดบริการรถไฟสายแรกระหว่างชิมบะชิและโยะโกะฮะมะในปี 1872[8]

ภูมิศาสตร์

หมู่เกาะโองาซาวาระซึ่งมีจุดที่ใต้สุดและตะวันออกสุดของญี่ปุ่น
กรุงโตเกียวตั้งอยู่ในที่ราบคันโตติดกับอ่าวโตเกียว มีขนาดประมาณ 90 กิโลเมตรจากตะวันออกถึงตะวันตก และ 25 กิโลเมตรจากเหนือถึงใต้ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดชิบะ ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดยามานาชิ ทิศใต้ติดกับจังหวัดคานางาวะ และทิศเหนือติดกับจังหวัดไซตามะ เขตการปกครองของโตเกียวนั้นรวมไปถึงหมู่เกาะอิสุและหมู่เกาะโองาซาวาระด้วย จึงทำให้โตเกียวมีจุดที่อยู่ใต้สุด (โอะกิโนะโทะริชิมะ) และตะวันออกสุด (มินะมิโทะริชิมะ) ของญี่ปุ่นอยู่ในพื้นที่ด้วย
ทางตะวันออกของโตเกียวเป็นที่ราบตะกอนน้ำพา เช่นบริเวณปากแม่น้ำสุมิดะ แม่น้ำเอะโดะ พื้นดินค่อนข้างอ่อนจึงทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน[9] อ่าวโตเกียวถูกถมที่เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ยุคเอะโดะ[10] และเริ่มมีการถมที่เพื่อสร้างสถานที่กำจัดขยะตั้งแต่ปี 1927[11] ปัจจุบันพื้นที่ประมาณร้อยละ 20 ของอ่าวโตเกียวกลายเป็นพื้นที่ถูกถม[12] ในเขตนิชิทะมะทางตะวันตกเป็นที่สูง โดยมีเขาคุโมะโทะริ ซึ่งมีความสูง 2,017 เมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดในโตเกียว โตเกียวตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลังซึ่งอยู่ใกล้ผิวโลกมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้น[13]
ทั้งหมู่เกาะอิสุและหมู่เกาะโองาซาวาระเป็นหมู่เกาะภูเขาไฟ หมู่เกาะอิสุมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่จำนวนมาก เช่นในภูเขาไฟโอะยะมะบนเกาะมิยะเกะที่ระเบิดในปี 2000[14] ส่วนหมู่เกาะโองาซาวาระนั้นอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มากและมีสัตว์ท้องถิ่นหลายชนิด จนบางครั้งถูกเรียกว่าหมู่เกาะกาลาปาโกสแห่งตะวันออก[15]
ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปน โตเกียวอยู่ในเขตภูมิอากาศชุ่มชื้นกึ่งเขตร้อน (Cfa) [16] และตามการแบ่งเขตภูมิอากาศในประเทศญี่ปุ่น โตเกียวอยู่ในเขตภูมิอากาศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีความแตกต่างระหว่างฤดูชัดเจน อากาศเปลี่ยนแปลงง่ายในแต่ละวัน ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงและฝนตกมาก ฤดูหนาวมีวันที่แดดออกและอากาศแห้ง
โตเกียวเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์เกาะความร้อน ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยความร้อนโดยวิธีต่าง ๆ เช่นไอร้อนจากเครื่องปรับอากาศหรือรถยนต์ และการพัฒนาตัวเมืองทำให้มีพื้นที่สีเขียวน้อยลง[17]

เศรษฐกิจ

โตเกียวเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางทางการเงินของโลกร่วมกับนครนิวยอร์กและลอนดอน โตเกียวเป็นเขตเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการสำรวจพบว่าในเขตโตเกียวซึ่งมีประชากรประมาณ 35.2 ล้านคน มีจีดีพีรวม 1.191 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 (เทียบด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ) ทำให้โตเกียวเป็นเขตเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุดในโลก[18] ในปี 2008 มีบริษัท 47 แห่งในรายชื่อ Fortune Global 500 ที่มีฐานอยู่ในโตเกียว ซึ่งมากเป็นเกือบสองเท่าของเมืองอันดับสอง [19]
โตเกียวเป็นหนึ่งในศูนย์กลางหลักทางการเงินระหว่างประเทศ[20] และมีสำนักงานใหญ่ของวาณิชธนกิจและบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง ในระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้การควบคุมจากทางการ บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งย้ายสำนักงานใหญ่จากเมืองต่าง ๆ เช่นโอซะกะ (ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางการค้าในอดีต) มายังโตเกียว โดยหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการที่ติดต่อรัฐบาลได้สะดวกขึ้น แต่แนวโน้มนี้ก็ชะลอตัวลงเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นและทำให้ค่าครองชีพสูงตามขึ้นไปด้วย

[แก้]การคมนาคม

โตเกียวซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคคันโตตอนใต้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ทั้งทางรถไฟ รถยนต์ และทางอากาศ การขนส่งมวลชนภายในโตเกียวที่สำคัญคือรถไฟและรถใต้ดินที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่และมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ภายในโตเกียวมีสนามบินนานาชาติฮาเนดะ ซึ่งให้บริการเที่ยวบินในประเทศเป็นส่วนใหญ่และเป็นสนามบินที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในเอเชีย[21] สนามบินนานาชาติหลักคือสนามบินนาริตะซึ่งอยู่ในจังหวัดจิบะเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอิสุก็มีสนามบินของตนเอง เช่นท่าอากาศยานฮาชิโจจิมะ ท่าอากาศยานมิยะเกะจิมะ ท่าอากาศยานโอชิมะ และมีเที่ยวบินมายังสนามบินฮาเนดะ แต่หมู่เกาะโองาซาวาระยังไม่มีสนามบิน เพราะมีข้อโต้แย้งว่าไม่ควรสร้างสนามบินเพราะจะเป็นอันตรายต่อธรรมชาติของเกาะ[22]
รถไฟเป็นการคมนาคมหลักในโตเกียว ซึ่งมีเครือข่ายทางรถไฟในเมืองกว้างใหญ่มากที่สุดในโลกบริษัท รถไฟญี่ปุ่นตะวันออก จำกัดเป็นผู้ให้บริการรถไฟที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมถึงรถไฟสายยะมะโนะเทะซึ่งวิ่งเป็นวงผ่านสถานีที่สำคัญของโตเกียวเช่นสถานีโตเกียว และ ชินจูกุ รถใต้ดินให้บริการโดยบริษัท รถไฟใต้ดินโตเกียว จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการขนส่งและจราจรโตเกียว


~ ประวัติ สุนทรภู่ ~


พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย[1] เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยาและ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลายๆเรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป

ต้นตระกูล

บันทึกส่วนใหญ่มักระบุถึงต้นตระกูลของสุนทรภู่เพียงว่า บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อถือตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ต่อมาในภายหลัง เมื่อมีการค้นพบข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับต้นตระกูลของสุนทรภู่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ฝ่ายบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จริง เนื่องจากมีปรากฏเนื้อความอยู่ในนิราศเมืองแกลง ถึงวงศ์วานว่านเครือของสุนทรภู่ แต่ความเห็นเกี่ยวกับตระกูลฝ่ายมารดานี้แตกออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งว่าไม่ทราบที่มาแน่ชัด ส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวฉะเชิงเทรา และส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวเมืองเพชร ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นข้าราชการแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชื่อขุนศรีสังหาร (พลับ) [2] ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบทกวีไม่ทราบชื่อผู้แต่งซึ่ง ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ พบที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง ว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย[3] ทว่าแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันค่อนข้างกว้างขวางคือ ตระกูลฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร สืบเนื่องจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร ฉบับค้นพบเพิ่มเติมโดย อ.ล้อม เพ็งแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2529[4]

[แก้]วัยเยาว์

สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
เชื่อกันว่า ในวัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏใน นิราศสุพรรณ[5] ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน[6] แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม จากสำนวนกลอนของสุนทรภู่ เชื่อว่าผลงานที่มีการประพันธ์ขึ้นก่อนสุนทรภู่อายุได้ 20 ปี (คือก่อนนิราศเมืองแกลง) เห็นจะได้แก่กลอนนิทานเรื่อง โคบุตร[7]
สุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน "เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย"[8] ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น "พระครูธรรมรังษี" เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา
แต่กลับจากเมืองแกลงเพียงไม่นาน สุนทรภู่ต้องติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่ อ.พระพุทธบาทจ.สระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย
สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป
หลังจาก นิราศพระบาท ที่สุนทรภู่แต่งในปี พ.ศ. 2350 ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลยจนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359

[แก้]กวีราชสำนัก

สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น[9] อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก "ช่วงเวลาที่หายไป" ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้[3]
เมื่อแรกสุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่มีเหตุให้ได้แสดงฝีมือกลอนของตัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร การต่อกลอนของสุนทรภู่คราวนี้เป็นที่รู้จักทั่วไป เนื่องจากปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ ฉากบรรยายรถศึกของทศกัณฐ์[9] สุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในเวลาต่อมา[10] ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นประจำ คอยถวายความเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่างๆ รวมถึงได้ร่วมในกิจการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง ขุนช้างขุนแผน ขึ้นใหม่
ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย[11] ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้
ในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อพ่อตาบ

ช่วงปลายของชีวิต

ปี พ.ศ. 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่องรำพันพิลาป พรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี
หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี สุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนสิ้นชีวิต[12] เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี

[แก้]ทายาท

สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ
พ่อพัดนี้เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ เมื่อครั้งสุนทรภู่ออกบวช พ่อพัดก็ออกบวชด้วย[13] เมื่อสุนทรภู่ได้มารับราชการกับเจ้าฟ้าน้อย พ่อพัดก็มาพำนักอยู่ด้วยเช่นกัน[12] ส่วนพ่อตาบนั้นปรากฏว่าได้เป็นกวีมีชื่ออยู่พอสมควร[9] เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี[3][14] แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศจ.ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัดมาด้วยตนเอง[14]